Update Newsท่องเที่ยว B Tripบทความพิเศษสกู๊ปพิเศษแหล่งเที่ยวไลฟ์สไตล์

สัมผัสเสน่ห์ “อีแต๊ก แอดเวนเจอร์” คาราวานชมทิว อะเมซิ่งแรง ในแดน 3 ธรรม  




มาแล้วจร้า !!! เดินทางกันอีกรอบกับทริปคุณภาพ โดยชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือ ช.ส.ท. คราวนี้เราเดินทางกันไปเยือนจังหวัดอุดรธานี ดินแดนแห่ง 3 ธรรม : ธรรมะ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม เพื่อออกแบบและสร้างสรรค์กิจกรรมทางการท่องเที่ยวเชื่อมโยงเมืองรองสู่เมืองหลัก ตามโครงการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงวัย เอิ่ม ... สำหรับเราขอบอกว่า ...เป็นทริปที่ครบรส ...หลากอารมณ์ สัมผัสได้ทุกวัยที่อยากเสพอรรถรสที่งดงามของสามธรรมทีเดียว

... โดยเราเดินทางกันระหว่างวันที่ 24-27 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นอีกครั้งที่ ช.ส.ท.ได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยด้วย เพื่อให้เราได้มีโอกาสไปเยือนและส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย ซึ่งสมาชิกชมรมฯ ก็จะนำความประทับใจเหล่านั้นมาเผยแพร่ให้ตามรอยกันต่อไป ซึ่งก็ตรงกับวัตถุประสงค์ของชมรมฯ ที่นำโดยประธานชมรม “คุณวรางคณา สุเมธวัน” เป๊ะ!

... เอ้า ! เริ่มกันเลย คราวที่แล้วร่วมเดินทางไปกับช.ส.ท. โดยรถไฟตู้นอนพิเศษเรียกว่าเหมากันทั้งสองโบกี้ พาคณะทั้งสื่อมวลชนและคณะนักท่องเที่ยววัยเก๋าไปเที่ยวกันมาแล้ว คราวนี้ก็ต้องแตกต่าง เดินทางกันด้วยรถโค้ชสองชั้นขนาดใหญ่ โดยเดินทางกัน 30 กว่าชีวิต

“ถึงไหนกันแล้วคะ” 

“ฝนตกตลอดเลยอ่ะคัพ”

“ถึงแล้วคัพ รอแป๊บบบ”

ข้อความทางไลน์ดังตึ๊งตั๊ง ๆ ตลอดเวลาก่อนการนัดหมาย เพราะวันนี้เรานัดกัน 19.00 น. ที่ปั๊มน้ำมันย่านวิภาวดีเพื่อรวมพลพรรครัก ช.ส.ท. ช่วงเวลาสุดพีคของจราจรเมืองหลวงทีเดียว

แต่ไม่นานนัก....ทุกอย่างก็ลงตัว ...ล้อหมุนออกเดินทางกันท่ามกลางฝนตกพรำ ๆ ด้วยฝีมือโชเฟอร์ ชื่อ“พี่ตู่” ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง นำพาเราเดินทางไป – กลับได้อย่างปลอดภัยสุภาพยอดเยี่ยม

DAY 1

... และแล้วก็มาสว่างกันกลางเมืองอุดร ฯ ลองจับกระดูกกระเดี้ยว... อ้อ.. ยังอยู่ดี 555 หลังจัดการภารกิจส่วนตัว อาหารเช้าอย่างไข่กระทะอาหารสุดฮิตของบ้านเมืองนี้ก็เตรียมพร้อม ณ ร้านคิงส์โอชา

“เชิญเลยคร้าบบ เตรียมเอาไว้ให้ทุกท่านแล้ว นอกเหนือจากนี้สามารถสั่งได้เลยนะคัพ”  

“ไข่ต้ม” ไกด์ที่คุ้นชิน และ “พี่นฤมล”  จากบริษัทนฤมลทัวร์ ส่งเสียงบอกให้คณะได้รับรู้







คิงส์โอชา ถือเป็นหนึ่งในร้านดังของเมืองอุดร เพราะเปิดให้บริการมากว่ายี่สิบปีแล้ว เรียกว่าเก๊าในรสชาติจากสูตรรุ่นต่อรุ่นกันมา อีกอย่างที่เด่นน่าจะเป็นเรื่องของสนนราคาที่ไม่แพงเลย อาหารส่วนใหญ่เน้นสไตล์เวียตนาม เมนูยอดฮิตส่วนใหญ่จะเป็นไข่กระทะ, ข้าวเปียก, ขนมปังยัดไส้, ข้าวเกรียบปากหม้อ และสตูว์ไก่ ชิ้นใหญ่ ราคาเพียง 50 บาท

ร้านคิงส์โอชา เวลาเปิด-ปิด 03.30-11.00 น.

Facebook : https://www.facebook.com/pg/RanKhingSXochaXaHarCheaEleaKheruxngDum

 แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง : มรดกโลก



....หลังอาหารเช้า การเยือนจังหวัดอุดรฯ เพื่อเยี่ยมชม 3 ธรรม ก็เริ่มขึ้น สถานที่แรกคือ เยือนแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง : มรดกโลก ซึ่งตั้งอยู่ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน ห่างจากตัวจังหวัดไปประมาณ 60 กม. ถือเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของไทย

ผอ.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง






ชาวบ้านเชียงปัจจุบันมีเชื้อสายลาวพวนที่อพยพเคลื่อนย้ายชุมชนมาจากแขวงเชียงขวางประเทศลาว เมื่อ 200 ปีมาแล้ว แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงเป็นแหล่งที่ทำให้รับรู้ถึงการดำรงชีวิตในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ย้อนหลังไปกว่า 4,300 ปีมาแล้ว

ภาชนะดินเผาที่ได้จากการขุดพบในบ้านเชียงแบ่งเป็นสามสมัย สมัยต้น กลาง ปลาย สมัยต้นมีอายุประมาณ 5,600 ปี – 3,000 ปี ลักษณะเด่นคือเป็นเนื้อดินสีดำมีฐานเชิงเตี้ย ส่วนลวดลายเป็นลายขูดขีด ลายเชือกคาด สมัยแรกยังไม่ค่อยใช้สีแดงบนภาชนะดินเผาคุณกนกวลี สุริยธรรม ผู้อำนวยการ ฯ เล่าให้ฟัง





ส่วนภาชนะใหญ่จะเป็นภาชนะสำหรับบรรจุศพเด็ก เด็กแรกเกิดถึงสามขวบเสียชีวิตก็จะใส่ในไห เป็นเหมือนกับความเชื่อ....” และอีกมากมายที่เจ้าหน้าที่บอกเล่าเรื่องราว เมื่อเข้ามาภายในพิพิธภัณฑ์ ส่วนจัดแสดงเครื่องปั้นดินเผา เราจะเห็นลวดลายก้นหอยจะพบมากที่สุดในบ้านเชียง เพราะเป็นเหมือนการกลับมาเกิดใหม่ของผู้ตาย









...ด้วยเพราะประวัติความเป็นมาที่ยาวนานนับพันปี ทำให้วัฒนธรรมบ้านเชียงถือเป็นวัฒนธรรมที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งของโลก มีการพัฒนาการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่บ้าน รู้จักปลูกข้าวและเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่เริ่มแรกคือเมื่อประมาณ 5,600 ปีมาแล้ว รวมทั้งมีการจัดระบบเช่น การฝังศพเป็นประเพณีสืบทอดกันมาหลายสมัย





 

 

ภายในส่วนจัดนิทรรศการอย่างน่าสนใจ อาทิ การจัดแสดงนิทรรศการและส่วนการบริการต่างๆ โดยเก็บค่าธรรมเนียมเข้าชมสำหรับคนไทย 30 บาท คนต่างชาติ 150 บาท เปิดให้เข้าชม : 09.00-16.00 น.

เรียกว่า ... หากได้เข้ามาเยือนพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบ้านเชียง คุณจะรับรู้ได้ถึงคุณค่าของวิถี ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจากอดีต และการจัดแสดงที่น่าสนใจมากๆ



 



 







นอกจากนี้สำหรับขาช็อป บริเวณชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบ้านเชียง ปั้นหม้อ ย้อมครามรวมกันอารยธรรมบ้านเชียง ...มรดกโลกทางวัฒนธรรม...กับวิถีไทยพวน มีร้านรวงที่จำหน่ายของที่ระลึก เสื้อผ้าลวดลายสวยงาม ราคาจับต้องได้ ที่สำคัญเป็นคนพื้นที่ที่ร่วมกันพลิกฟื้นชุมชนโดยรอบ อีกทั้งบางรายยังเป็นผู้บริจาคที่ดินให้ก่อร่างสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ด้วย







 

 

 พี่ซื้อผ้ามาผืนนึง ราคาไม่แพงเลย” คณะร่วมทางเดินเอ่ยขึ้นพลางหยิบผ้าออกมาโชว์ลวดลาย นั่นทำให้หลายคนจากที่กะว่าจะเดินเล่นเฉย ๆ ก็เปลี่ยนใจกลับไปหยิบจับมาชมเชยกันบ้าง ไม่ให้น้อยหน้าขาช็อประดับเทพ... อิอิ

และหากต้องการหาร้านอาหารสำหรับกรุ๊ป ต้องที่นี่เลย ครัวฟ้าใส คุณลุง คุณพ่อลูกสาวสามคน เปิดร้านมานานตั้งแต่ยุคแรกๆ ดูจะเป็นร้านอาหารรับแขกบ้านแขกเมืองหนึ่งเดียวที่อยู่บริเวณใกล้ๆ ชุมชนบ้านเชียง มีอาหารที่อร่อยหลายอย่าง สามารถสอบถามข้อมูลต่างๆ ของชุมชนได้ที่ คุณเศวตฉัตร บรรเทาทุกข์ โทรศัพท์ 086-221-3331

พิกัด : https://goo.gl/maps/uccAVb5Gb9fV7iYZ8

วัดสันติวนาราม

....หลังอิ่มเอมกับประวัติศาสตร์บ้านเชียง ก็ไปต่อกันเลยที่วัดสันติวนาราม ที่นี่ เป็น พุทธอุทยานวัดป่าดงไร่ "พระอุโบสถกลางน้ำทรงดอกบัว หนึ่งเดียวในสยาม"



วัดสันติวนาราม (วัดป่าดงไร่) เป็นพระอุโบสถกลางน้ำทรงดอกบัว ที่มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศไทย  พระอุโบสถกลางน้ำ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง19 เมตร สูง 19 เมตร มีกลีบดอกบัว 24 กลีบ รูปภาพวาดบนผนังดอกบัว เป็นรูปภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติพระพุทธเจ้า มีองค์พระประธานสีขาว โดดเด่นอยู่ภายในอุโบสถ





บริเวณโดยรอบอุโบสถโอบล้อมไปด้วยบึงน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งมีปลาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก สามารถให้อาหารปลาได้ วัดสันติวนาราม มีความสงบ ร่มรื่น มีป่าไม้ธรรมชาตินับ 1,000 ไร่ เป็นหนองน้ำ 100 ไร่ เป็นสถานที่ปลูกสร้างเสนาสนะและลานอเนกประสงค์ 130 ไร่



พระอุโบสถกลางน้ำรูปทรงดอกบัว เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2544 ในสมัยพระครูพิสารธรรมพาธี อดีตเจ้าอาวาส ซึ่งมรณภาพได้นำรูปแบบพระอุโบสถมาจากประเทศอินเดีย แต่การก่อสร้างยังไม่แล้ว เจ้าอาวาสปัจจุบัน  คือ ดร.มหาบาง เขมานันโธ จึงได้สืบสานในการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ

วัดโพธิสมภรณ์ 

แล้วก็มาถึงวัด โพธิสมภรณ์ วัดสวยกลางเมือง เป็นวัดอารามหลวงชั้นตรี เป็นที่สำคัญของชาวอุดรเป็นวัดเก่าแก่ ในวัดมีโบสถ์เก่าแก่100ปี วัดใหญ่ มีเจดีย์สำคัญอยู่ตรงกลาง ภายในมี อัฐิ พระธาตุ พระสารีริกธาตุ เกจิอาจารย์มากมายหลายท่าน วัดโพธิสมภรณ์ ตั้งอยู่ที่ ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เป็นพระอารามหลวงที่ถือว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ปลายรัชกาลที่ 5 โดย มหาอำมาตย์ตรีพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ เนติโพธิ) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร



พิกัด : https://goo.gl/maps/gpLMDyUg5HN2W33L7

เปิดให้เข้าชม : 07.00-18.00 น.



พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี

ช่วงบ่าย ... เราไปต่อกันเลยที่ “พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี” ที่นี่แค่เห็นเพียงตัวอาคารสถาปัตยกรรมสีเหลืองภายนอกก็ร้องว้าว !! จากข้อมูลบอกว่าที่นี่เป็นตึกราชินูเก่าหรืออาคารโรงเรียนราชินูทิศ ที่สร้างขึ้นมาตามพระดำริของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในรัชกาลที่ 6

  

ต่อมาก็ได้มีการปรับปรุงมาเป็น พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นอาคารรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกใกล้เคียงกับ Neo-Classic บอกเลยว่า ... ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ถือว่าเป็นส่วนจัดแสดงที่ไฮเทคไม่เบา ทั้งเรื่องของการจะดูข้อมูลก็ต้องเสียบบัตร การแสดงในลักษณะสื่อผสมก็จะเริ่มขึ้น ที่นี่มีสองชั้น น่าสนใจมากๆ เดินเยี่ยมชมได้ไม่เบา มาแล้วต้องห้ามพลาด





แต่ก่อนจะไปสู่ส่วนพิพิธภัณฑ์ ฯ ต้องผ่านเข้าทางอาคารโครงสร้างเหล็ก อาคารนี้เป็นศูนย์บริการฯ มี ส่วนต้อนรับ เป็นทั้งศูนย์ประชาสัมพันธ์ แหล่งจำหน่ายบัตรเข้าชม มีร้านจำหน่ายสินค้าของที่ระลึก

อาคารทำสีเหล็กฉลุทั้งหมดด้วยสำริด ที่สื่อความหมายถึงบ้านเชียงที่อยู่ในยุคสำริด รวมถึงแพทเทิร์นลายฉลุที่นำมาออกแบบ มาจากลายผ้าหมี่ขิดพระราชทาน เรียกว่า “หมี่ขิดลายสมเด็จ” อาคารหลังนี้จึงดูเหมือนการเปรียบเทียบประวัติศาสตร์ของตัวอาคารระหว่างความเก่าและใหม่ที่ต้องเดินไปคู่กันเสมอ ตอนแรกเราเองก็มี เอ๊ะ ๆ ทำไมๆ อยู่เหมือนกัน จนได้ทราบความหมายนั่นแหล่ะ









... หลังจากนั้นปิดท้ายวันกันที่ ศาลหลักเมืองอุดรธานี เพื่อเป็นสิริมงคล แคล้วคลาดปลอดภัยสำหรับคณะเดินทาง

DAY 2 

... เข้าสู่วันที่ 2 วันนี้กายพร้อม ! คณะพร้อม! เดินทางกันต่ออย่างกระปรี้กระเปร่า เพราะจะได้ไปเยือนที่เที่ยวที่น่าสนใจมากกก ไม่ว่าจะเป็นวัดป่าภูก้อน Unseen Thailand บ้านคีรีวงกต อุทยานประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นวัดป่าภูก้อน Unseen Thailand บ้านคีรีวงกต อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท 

แต่ดูจากสภาพอากาศระหว่างการเดินทาง ด้วยสายฝนที่ตกพรำตลอดเส้นทางจากตัวเมืองสู่อำเภอนายูง ทำให้ไกด์ไข่ต้มของเรา ปรับเปลี่ยนโปรแกรมเพื่อให้เหมาะสมและเข้ากับเวลา ทริปแรกของวันจึงไปที่คีรีวงกต

 แทรกขุนเขา เขย่าเชิงกราน บ้านคีรีวงกต



“รถโค้ชขึ้นได้ครับ แต่ช้าหน่อย” ไกด์ “ไข่ต้ม” บอกผ่านไมโครโฟนให้ลูกทัวร์ได้ทราบ อีกทั้งความที่ต้องเปลี่ยนแปลงโปรแกรมไปที่คีรีวงกตก่อนจะไล่ระเรื่อยกลับลงมาแวะตามสถานที่อื่นๆตามแพลน ใช้เวลานานกว่าสามชั่วโมง แต่ขอบอกว่า บรรยากาศของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในแบบ “รถอีแต๊ก” พาหนะดัดแปลงจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ... ชอบๆ

.. และแล้วก็ได้เวลาของการออกทริป นั่งอีแต๊ก เสียงเครื่องยนต์ดัง แต่กๆ แต่กๆ แต่กๆ กระหึ่มแทรกขุนเขา เขย่าเชิงกราน 555 ไม่ผิดคะ ก็ตั้งแต่ที่ผู้ใหญ่อ๋อยมายืนโบกรถอีแต๊กส่งคณะสื่อมวลชนออกจากจุดสตาร์ทกลางหมู่บ้าน หะแรกยังวิ่งกันอยู่บนถนนซีเมนต์ เวลาผ่านไปไม่นานก็ได้เข้าสู่โหมดของการแอดเวนเจอร์









“มาเลยคัพ ทีละคัน ทีละคัน ชะลอไปพร้อมกันคร้าบบบบ” คนต้นทางตะโกนบอกอีแต๊กคันหลัง และต่อ ๆ ไป เราเริ่มลงสู่เส้นทางแหล่งกำเนิดของน้ำตกห้วยพาง ลำธารที่หล่อเลี้ยงชุมชนของที่นี่







 

... อันว่ารถอีแต๊กที่ดัดแปลงนี้ ประกอบไปด้วยที่นั่งสองทาง นั่งด้านหน้าได้ 2 – 3 คน มีเบาะรองก้นกันกระแทก ส่วนด้านหลังคนขับจัดทำเป็นเก้าอี้ที่นั่งได้ 3 คนและมีส่วนของการนั่งเบาะได้อีก 3 คนเช่นกัน สรุปรวม ๆ ก็ราว ๆ 8-9 คน ที่สามารถตุเลง ตุเลงไปด้วยกันได้ มีร่มตลาดขนาดใหญ่ 2 คันกันแดดกันฝนให้ด้วย



...ล้อขนาดใหญ่ค่อยๆ บดเบียดแก่งหินน้อยใหญ่กลางลำธาร ลัดเลาะพากายไหวเอน ..ขวาที.. ซ้ายที ขึ้นเนินเข้าเส้นทางถนนดินแดงเลาะตามไพร ท่ามกลางความเขียวขจีของแมกไม้ขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้าง มองไกลเห็นทิวเขาลิบๆ  ยิ่งเพิ่มอรรถรสในการแต่ก แต่ก ... จะมีบางช่วงที่จอดรถชะลอการเคลื่อนไหว เพื่อให้ไม่เสียกระบวนท่า



“เย้ยยยย หลุมๆๆๆ ” เสียงวี๊ดว๊ายจากสาวๆ ร่วมทางดังลั่นทุ่งแข่งกับเสียงพาหนะอะเมซิ่ง ช่าย ... หลุมเลนพาให้ร่างไหวเอนตามแรงเหวี่ยง


 

 

“ป๊าดดด” .... มันหนุกหนานอย่างนี้นี่เอง

...ยังคะ ยังไม่พอ ... ผ่านจากเนินดินและสายน้ำ แต่ก...แต่ก ผ่านแปลงนาข้าวสีเขียวเข้มขนาดใหญ่ตามคันนากันต่อ ก่อนจะเร่งเครื่องสุดชีวิตเพื่อขึ้นสู่เนินดินไปสวนยางพารา





“จะรอดมั๊ยเนี่ย” เราแอบคิด

....เนินขึ้นสวนยางพาราเป็นทางดินแดงขึ้นได้เพียงทีละคัน ด้วยเพราะเป็นเนินนี่แหล่ะ เมื่อคันหน้ายังไม่ผ่านขึ้นสู่ด้านบน คันหลังก็ต้องชะลอรออยู่ด้านล่างเพื่อให้มีแรงส่งขึ้นไปได้



... ยังคะ ยังไม่พอ.. ยังแต่ก แต่ก กันต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อไปพบกับน้ำตกเล็กๆ อันเป็นจุดหมายปลายทาง  ..และแล้วก็ถึงจุดหมาย บริเวณน้ำตกขนาดเล็ก มีการก่อสร้างเพิงเล็กๆ เอาไว้สำหรับรองรับการทานอาหารของเหล่านักท่องเที่ยว และอะเมซิ่งยังไม่หมด เมื่อ...





“แกงส้มมัจฉาร้อนๆ จากกระบอกไม้ไผ่” สู่ภาชนะไม้ไผ่เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีไก่ย่างสีเหลืองส้มน่ากินมากกก รวมทั้งปลาย่างเกลือ ส้มตำซึ่งแล้วแต่จะสั่งเอารสชาติแบบไหนเพราะเขาตำกันแบบธรรมดามาเสริฟก่อน หลังจากนั้นจะสั่งต่อก็ว่ากัน และอีกหนึ่งว้าว ! คือ ข้าวเหนียวในกระบอกไม้ไผ่กลิ่นหอมฟุ้งนุ่มขาวน่าทานมาก







ผู้ใหญ่อ๋อย – นรินทร์ อนันทวรรณ์ ประธานกลุ่มท่องเที่ยวคีรีวงกต ฝากบอกมาว่า คีรีวงกตเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเชิงวิถีธรรมชาติและวิถีชุมชน เดินทางด้วยรถอีแต๊กลุยน้ำลุยเข้าป่าชมน้ำตก มีบริการสองแบบ แบบแรกคือ วันเดย์ทริป คนละ 300 บาท ราคารวมการบริการท่องเที่ยวด้วยรถอีแต๊กและอาหาร 1 มื้อ รับนักท่องเที่ยวได้วันละ 100 คน อาหารเราจะเป็นสแตนดาร์ด ไก่ย่างเป็นบุฟเฟ่ต์เติมได้ตลอดเสริฟไม่อั้น ส้มตำไทย อีสานอะไรเติมได้ตลอดเรียกหาได้เลย แกงส้มมัจฉาเป็นไฮไลท์ที่เริ่มต้นกันมาจากวัตถุดิบจากในหมู่บ้าน นอกจากนี้จะมีแก้วไม้ไผ่และช้อนไม้ไผ่ให้กลับบ้านเป็นที่ระลึกคนละ 1 ชุด สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมที่นี่





แบบที่สอง พักค้างคืน 1 คืน มีโฮมสเตย์บริการ และอาหาร 3 มื้อ รวมการท่องเที่ยวโดยรถอีแต๊ก คนละ 900 บาทเท่านั้น ในช่วงเย็นจะมีการบายศรีสู่ขวัญต้อนรับนักท่องเที่ยว ไฮไลท์จะอยู่ที่ตอนเช้าตรู่มีนำรถอีแต๊กพาขึ้นภูเขาชมทะเลหมอก ตอนนี้รวมกลุ่มบ้านโฮมสเตย์รองรับได้ 50 คนเท่านั้น”



...และที่ย้ำมากๆ คือจะมาแบบไหนก็ต้องจองล่วงหน้าเท่านั้น 

... จริงๆ ก็ไม่ใช่หนแรกกับการนั่งรถอีแต๊กของชาวบ้านลงท่องเที่ยวสู่ชุมชนต่างๆ แต่ละแห่งก็มีเสน่ห์ของตนเอง แต่เพราะครั้งนี้ดูจะเหมาะเจาะไปซะหมด ไม่ว่าจะเป็นอากาศที่เย็นสบายหลังฝนปรอย หรือน้ำในลำธารระหว่างการเดินทางก็ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป ระยะทางการเดินทางก็ไม่นานเกินไปจนสะบักสะบอม อาหารการกินที่ตระเตรียมเอาไว้ก็รสชาติถูกปาก อีกทั้งทางกลับก็คนละเส้นทางรวดเร็วกว่าและไม่ทำให้น่าเบื่อ สรุปว่า... มันเริ่ดมากคะ

 

เอ้า... ว่าแล้วก็รีบจับจองกันเลยคร้า

วัดป่าภูก้อน 

หลังจากสัมผัสกับธรรมะชาติ 1 หนึ่ง 3 ธรรมของเมืองอุดรฯกันอย่างเต็มที่ คราวนี้ปรับโหมดไปยังวัด “ป่าภูก้อน” ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่านายูงและป่าน้ำโสม อันเป็นรอยต่อแผ่นดินสามจังหวัดคือ อุดรธานี เลยและหนองคาย กำเนิดขึ้นจากการดำริชอบของพุทธบริษัทสี่ ผู้ตระหนักถึงคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติและป่าต้นน้ำลำธาร ซึ่งกำลังถูกทำลาย โดยปี 2527 หลวงปู่ฝั้น อาจารโร ได้ปรากฏในทิพยนิมิตให้คุณปิยวรรณและคุณโอฬาร วีรวรรณ พร้อมคณะธุดงค์ทางภาคอีสานเป็นเวลา 10 วัน เดินทางไปแถบสกลนครและอุดร เกิดความเลื่อมใสในปฏิปทาของพระป่าจึงได้เข้าช่วยเหลือท่านพระอาจารย์อินทร์ถวาย สันตุสสโก สำนักสงฆ์บ้านนาคำน้อยขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจัดตั้งเป็นวัดป่านาคำน้อยและปลูกป่าทดแทนสภาพเสื่อมโทรมกว่า 750 ไร่ อย่างถูกต้องตามระเบียบของกรมป่าไม้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการปฏิบติธรรม และ... หลังจากนั้นจึงได้สร้างวัดเนื้อที่ 15 ไร่ โดยขออนุญาตจากกรมป่าไม้



 

 

 

 

องค์พระมหาเจดีย์แห่งนี้เป็น 1 ใน โครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ฯ  ครบ 6 รอบ และได้อัญเชิญตราสัญญลักษณ์และพระรูปหล่อพระองค์ท่านมาประดิษฐานภายในองค์มหาเจดีย์ด้วย

วัดป่าภูก้อน ได้รับมอบประกาศนียบัตรจากกรมป่าไม้ เป็นวัดอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ดีเด่น ระดับจังหวัดประจำปี 2544 ประเภทดูแลรักษาป่าดั้งเดิมตั้งแต่ 501 ไร่ขึ้นไป

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท 

และปิดทริปของวันนี้ด้วยอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเขตเมืองพาน ส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน ซึ่งเป็นเทือกเขาหินทราย อยู่ด้านทิศตะวันตกของจังหวัด



เป็นอีกแห่งที่อะเมซิ่งด้านโบราณคดีเช่นกัน จากเอกสารบอกว่า บนภูพระบาทแห่งนี้มีร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์กำหนดอายุได้ประมาณ 2,500 ถึง 3,000 ปีมาแล้ว จากการค้นพบภาพเขียนสีมากกว่า 54 แห่งทั่วบริเวณ











“มุมนี้ลองสังเกตดีดี มีลายเส้นเขียนสีแดงอยู่” เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ซึ่งวันนี้ได้ให้เกียรติพาคณะสื่อมวลชนชมและบันทึกภาพเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้ได้ประชาสัมพันธ์จังหวัดกันแบบไม่ตกหล่น แม้จะเริ่มเย็นย่ำแล้วก็ตาม





 

ที่นี่มีการดัดแปลงเพิงหินธรรมชาติ ให้กลายเป็นศาสนสถานของผู้คนในสมัยวัฒนธรรมทวาราวดี วัฒนธรรมเขมร วัฒนธรรมล้านช้างและรัตนโกสินทร์









เราจะเห็นร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ในภาคอีสานเป็นอย่างดี กรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พัฒนาจนกลายเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทในที่สุดและมีพิธีเปิดฯ อย่างเป็นทางการในปี 2535 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

ภายในพื้นที่มีถ้ำและเพิงหินต่างๆ ตั้งกระจายทั่วบริเวณ เช่นหอนางอุสา เป็นการจินตนาการของมนุษย์กับธรรมชาติที่ได้รังสรรค์เพิงหินต่างๆ ไว้ จึงผูกเรื่องขึ้นเป็นตำนานพื้นบ้าน



สามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ ติดต่อที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว โทร 04 221 9837 – 38 เปิดให้ชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. ค่าเข้าชม คนไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท

Day 3 

พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์



เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เช้าวันสุดท้าย ประธานชมรมฯ พาเราไปสักการะหลวงตามหาบัว ที่ พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ พระธรรมวิสุทธิมงคล



ที่นี่สร้างขึ้นเพื่อบูชาคุณองค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโนผู้ถึงพร้อมด้วยญาณอันบริสุทธิ์ สถานที่เผยแพร่ธรรมเทศนา ปฏิปทา คติคำสอนและเก็บรวบรวมหนังสือธรรมะ ตลอดจนอัฐบริขารขององค์หลวงตาฯ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้อนุชนรุ่นหลังทั้งพระสงฆ์และฆราวาสได้รำลึกถึงคุณูปการทั้งทางโลกและทางธรรม



พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ ตั้งอยู่บนเนื้อที่ในตำบลบ้านตาด 181 ไร่ เป็นภูมิทัศน์ 38 ไร่ พื้นที่ประกอบด้วย 3 อาคารคือ พระธาตุเจดีย์ พระวิหารและพิพิธภัณฑ์



โดยออกแบบเริ่มจากพิพิธภัณฑ์ พระวิหารและพระธาตุเจดีย์ ตั้งอยู่ในแนวเดียวกันกับจิตกาธาน สถานที่พระราชทานเพลิงสรีระสังขายองค์พ่อแม่ครูอาจารย์หลวงตามหาบัวญาณสัมปันโนและที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ในทิศทางเดียวกันนี้เป็นแนวตรงไปยังพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าดินแดนพุทธภูมิในประเทศอินเดีย



พระธาตุเจดีย์ เป็นสถาปัตยกรรมไทยผสมผสานศิลปะล้านช้าง รูปทรงระฆังแปดเปลี่ยมปรียอดโลหะทองแดง ปิดด้วยทองคำบริสุทธิ์ 96.70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนบนที่ระดับความสูง 33 เมตรประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พระอรหันตธาตุและอัฐิธาตุของหลวงตามหาบัว และซุ้มทิศยอด 4 ทิศ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปเงิน พระพุทธรูปพิงค์โกลด์ และพระพุทธรูปแก้วสารพัดนึก (หินจุนเจีย)









ตอนกลางเป็นห้องโถงประดิษฐานบุษบกทองคำ ภายในบรรจุพระรัตนเจดีย์ และอัฐิธาตุของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ใต้พื้นหินอ่อนรองรับบุษบกทองคำ ประดิษฐานแท่นบรรจุศิลาพระฤกษ์ โดยสมเด็จพระเจ้น้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมาร กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติราชนารี  เสด็จทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อเดือนมกราคมปี 2556





ที่นี่เปิดให้เยี่ยมชมสักการะได้ตั้งแต่ 8.30-16.30 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ และมีข้อความเตือนให้เตรียมพร้อมทั้งกาย วาจา ใจ และมีความสำรวมระมัดระวังทำตามกฎระเบียบของวัดอย่างเคร่งครัด เคารพสถานที่ของพ่อแม่ครูอาจารย์ “วัดไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว แต่เป็นสถานที่ศึกษาและปฏิบัติธรรม” เพื่อดำรงไว้ให้เจริญงอกงามในบวรพระพุทธศาสนาต่อไป



... เพราะฉะนั้น หากจะเข้าไปโหวกเหวกเสียงดังก็ต้องคอยระลึกเอาไว้ สำหรับนักท่องเที่ยวทั้งหลาย พึงสังวรเด้อ...



ภูฝอยลม 

และแล้วก็มาถึงสถานที่สุดท้ายก่อนปิดทริปด้วยการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ภูฝอยลม



ภูฝอย เป็นยอดภูเขาสูงที่มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ อยู่ในเขตป่สงวนแห่งชาติป่าพันดอน - ปะโค อากาศหนาวเย็นตลอดปี ด้วยความชุ่มชื้นที่สูงมากและความอุดมสมบูรณ์ของป่าในอดีต ทำให้เกิด Lichen (รา + สาหร่าย) ชนิดหนึ่งซึ่งอยู่ในกลุ่ม Frutiose เรียกว่า ฝอยลม ( Usnea abissinica Mot.) มีลักษณะเป็นเส้นฝอยสีเขียวปนเทา เกาะอยู่ตามกิ่งของต้นไม้เจริญงอกงามกระจายอยู่เต็มภูเขา จนได้รับการขนานนามว่า ภูฝอยลม

“เมื่อหลายปีก่อนพี่เคยมาที่นี่ ยังเคยได้เห็น ปัจจุบันไม่มีแล้ว” พี่แอ๊ว ประธานชมรมฯ เอ่ยขึ้นกับทางเจ้าหน้าที่อุทยานฯ



“ใช่ครับ เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว” เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่โดยการบุกรุกของราษฎรเพื่อจัดตั้งหมู่บ้านหลายหมู่บ้านทำให้สภาพป่าเริ่มเสื่อมโทรม ทำให้จำนวนฝอยลมลดน้อยลง จนแทบจะสูญพันธ์ ระหว่างปี 2528- 2532 ผู้ว่าฯ ในสมัยนั้นได้เคลื่อนย้ายราษฎรออกจากพื้นที่โดยจัดที่อยู่ให้ใหม่ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ



ปี 33 สำนักงานป่าไม้เขตอุดรธานี ได้ริเริ่ม โครงการเยาวชนพิทักษ์ไพร เป็นการปลูกฝังคนรุ่นใหม่ให้เห็นความสำคัญของป่า ปี 2535 กรมป่าไม้ได้อนุมัติให้จัดตั้ง สวนรวมพรรณไม้ป่า 60 พรรษา มหาราชินี เพื่อรวบรวมพรรณไม้ป่าของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนปี 2545 ได้รับอนุมัติงบก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงภูมิทัศน์ในพื้นที่ให้บริการและได้เปลี่ยนชื่อโครงการใหม่ เป็นโครงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศภูฝอยลม ใช้ชื่อภาษาอังกฤษ ว่า  Phu Foilom Ecotourism Project เพื่อสะดวกในการจดจำและเป็นที่รู้จักกับคนทั่วไป







ภูฝอยลม มีเส้นทางเดินป่า มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ และเป็นศูนย์ศึกษาธรรมชาติที่ดีที่สุดแหงหนึ่งในภาคอีสาน มีจุดกางเต็นท์ มีบ้านพัก

“ถ้าหากมาในช่วงปลายปี อากาศจะหนาวเย็นประมาณ 3 องศา เชิญชวนนะครับ ” เจ้าหน้าที่อุทาน เชื้อชวนให้เรากลับไปเยือนอีกครั้ง



ภูฝอยลม มีบ้านพัก จุดกางเต็นท์ และร้านค้าสวัสดิการให้บริการนักท่องเที่ยว สอบถามข้อมูลได้ที่ โทร 08 9 710 2633 และ 09 7301 7567





 

... วัยเก๋า .. วัยไม่เก่า น่าจะได้ไอเดียไม่มากก็น้อยจาก ทริป เยือนอุดรธานี : ดินแดนแห่ง 3 ธรรม ธรรมะ ธรรมชาติและวัฒนธรรม ที่นำเสนอโดย ชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว ( ช.ส.ท.) ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในครั้งนี้

“ชมรมฯ จัดนำสื่อออกเดินทางมาเจาะลึกเพื่อสัมผัสกับการท่องเที่ยวเส้นทางใหม่ๆ ปีละหนึ่งครั้ง และปีนี้เราเลือกจังหวัดอุดรธานี เลือกที่จะมาดูวิถีชีวิตชุมชน โบราณสถาน การท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเราทำได้ครบ สื่อของเราทุกคนถือว่าเป็นสถาบันเดียวกันของชมรมฯที่จะนำเรื่องราวของจังหวัดอุดรธานีที่เราได้ทำงานมาทั้งหมดนี้ เพื่อนำไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เป็นประโยชน์แก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่อไป” พี่แอ๊ว วรางคณา สุเมธวัน ประธานชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว กล่าวในตอนท้าย

... ว่าแล้วก็แพลนการเดินทางกันต่อเลยดีกว่า ครั้งหน้าจะเป็นที่ไหน อย่างไร ติดตามกันได้ทาง บีทริปนิวส์ บ๊ายบาย ไปต่อละ .... แต่ก แต่ก แต่ก



______

ขอขอบคุณ

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง

นางสาว กนกวลี สุริยธรรม ผู้อำนวยการ ฯ

นางสาววรญา ราชโหดี พนักงานนำชม

นางนิตยา เกี้ยวพิมาย ข้าราชการชำนาญการ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง โทร 042-235040

Facebook : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง : Banchiang National Museum

กลุ่มท่องเที่ยวคีรีวงกต

ผู้ใหญ่ นรินทร์ อนันทวรรณ์ ประธานกลุ่มท่องเที่ยวคีรีวงกต โทร 083 1479004

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

นายวัฒนา พรหมวิชัย อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท โทร 089-572-8632

#อุดรธานี #ดินแดนแห่ง3ธรรม #ชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว #ชสท #ททท #การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย #คีรีวงกต #รถอีแต๊กบ้านคีรีวงกต #พิพิธภัณฑ์บ้านเชียง #ชุมชนบ้านเชียง #ภูพระบาท #วัดหลวงตามหาบัว #btripnews